คนไทยส่วนใหญ่ออกเสียงคำได้อย่างถูกต้อง คำที่มีปัญหาในการออกเสียงมักเป็นคำที่ยืมมาจากภาษาอื่น เช่น ภาษาสันสกฤต ภาษาจีน หรือภาษาอังกฤษ เป็นต้น ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ไม่ทราบว่าจะออกเสียงอย่างไร การออกเสียงคำในภาษาไทยมี 2 ลักษณะคือ
- ออกเสียงตามหลักเกณฑ์มาตรฐาน
- ออกเสียงตามความนิยม
* * ลักษณะเฉพาะของคำ * *
1. คำไทยแท้ส่วนใหญ่เป็นคำโดดหรือคำพยางค์เดียว
2. คำไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปคำเพื่อแสดงลักษณะทางไวยากรณ์
3. การเรียงคำผิดตำแหน่งทำให้หน้าที่และความหมายของคำเปลี่ยนไป
4. คำบางคำมีหลายหน้าที่และหลากความหมาย
5. คำไทยมีความหลากหลายในการเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับบุคคล
และโอกาส
6. คำไทยมีคำพ้องรูป คำพ้องเสียง และคำพ้องความหมาย
7. คำไทยมีการสร้างคำใหม่ใช้เพิ่มเติมในรูปของคำประสม คำซ้อนคำซ้ำ
และมีการยืมคำจากภาษาอื่นมาใช้ในรูปแบบของคำสมาส คำสนธิ
คำทับศัพท์และศัพท์บัญญัติ
8. คำไทยมีคำราชาศัพท์ ซึ่งเป็นถ้อยคำที่แสดงถึงความเคารพและ
เทิดทูนบุคคลที่สูงด้วยวัยวุฒิคุณวุฒิและชาติวุฒิ
9. คำไทยมีความหมายทั้งความหมายตรงและความหมายแฝงทำให้มี
โวหารและภาพพจน์ในการสื่อความหมายที่งดงามและชัดเจนขึ้น
10. คำไทยมีลักษณะนามใช้เพื่อบอกลักษณะคน สัตว์ สิ่งของ
11. คำไทยมีลักษณะเสียงต่างกันตามรูปวรรณยุกต์ที่กำกับ ทำให้
ความหมายของคำต่างกันไป
12. คำไทยมีความประณีตหลากหลายสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับ
ความต้องการ
13. คำไทยมีศักดิ์ของคำ สามารถเลือกใช้ได้ตามรูปแบบของการเขียน
ได้อย่างหลากหลาย
คำที่ใช้ในโอกาสทั่วไป คำที่ใช้ในภาษาแบบแผน คำที่ใช้แต่งคำประพันธ์
ตะวัน ดวงอาทิตย์ สุริยะ/สุริยา/สุริโย/สุรีย์/ทินกร
เดือน/ดวงจันทร์ พระจันทร์ พระจันทร์ดวงเดือน/จันทรา/ศศิธร/แข
ตาย เสียชีวิต/ถึงแก่กรรม ม้วย/มอดม้วย/มรณา
ลูกสาว บุตรี ธิดา
> > การอ่านออกเสียงคำให้ถูกต้อง < <
การอ่านอักษรนำ
1. ถ้าพยัญชนะต้นตัวแรกเป็นอักษรสูงหรือกลางพยัญชนะตัวตามต้องออกเสียง
ตามตัวพยัญชนะตัวแรก เช่น
ตามตัวพยัญชนะตัวแรก เช่น
ถนน อ่านว่า ถะ-หนน ขนุน อ่านว่า ขะ-หนุน
สมุน อ่านว่า สะ-หมุน ผลิต อ่านว่า ผะ-หลิด
จรัส อ่านว่า จะ-หรัด
อักษรสูงมี 11 ตัวดังนี้ ข ฃ ฉ ผ ฝ ถ ฐ ส ศ ษ ห
อักษรกลางมี 9 ตัวดังนี้ ก จ ฎ ฏ ด ต บ ป อ
2. ถ้าพยัญชนะต้นตัวแรกเป็นอักษรต่ำ คำหลังอ่านตามเสียงเดิม
คณิต อ่านว่า คะ-นิด ชนก อ่านว่า ชะ-นก
ทนาย อ่านว่า ทะ-นาย พนัก อ่านว่า พะ-นัก
3. ถ้าพยัญชนะต้นตัวแรกเป็น ห นำพยัญชนะอื่น หรือ อ นำพยัญชนะ ย ให้อ่านออกเสียงเหมือนการอ่านอักษรควบไม่แท้ เช่น หมู่ หมอ ใหญ่ อย่า อยู่ อย่าง อยาก
การอ่านอักษรควบกล้ำ
1. อักษรควบแท้จะต้องอ่านออกเสียงพยัญชนะต้นทั้ง 2 ตัวพร้อมกัน เช่น
กราบกราน คล่องแคล้ว นิทรา ฟรี ปรับปรุง โปรดปราน
2. อักษรควบไม่แท้ เวลาอ่านออกเสียงจะอ่านพยัญชนะต้นเพียงตัวเดียว
ไม่อ่านออกเสียงตัวควบกล้ำ เช่น แสร้ง (แส้ง) เสร็จ (เส็ด)
ศรัทธา (สัด-ทา) กำสรวล (กำ-สวน) และตัว ท ควบกับ ร ให้เปลี่ยน
เสียง ทร ให้เป็น ซ เช่น ทรัพย์สิน (ซับ-สิน) พุทรา (พุด-ซา)
ทรุดโทรม (ซุด-โซม)
การอ่านคำแผลง
เมื่อแผลงคำโดยการแทรกคำ + น. แล้วออกเสียงพยางค์หลังตามรูปคำของ
พยัญชนะที่แปลงมา เช่น โจทย์แผลงเป็น จำโนทย์ อ่านว่า จำ-โนด แจก แผลงเป็น จำแนก อ่านว่า จำแนก อวย แผลงเป็น อำนวย อ่านว่า อำ-นวย ยกเว้น เกิดแผลงเป็น กำเนิด อ่านว่า กำ-เหนิด ปราศ แผลงเป็น บำราศ อ่านว่า บำ-ราด
การอ่านอักษรควบกล้ำ
คำแผลงที่มี ร ล ว ควบ เมื่อแทรก คำแล้ว ให้อ่านออกเสียงตามเดิม เช่น ตรัสแผลงเป็น ดำรัส อ่านว่า ดำ-หรัด ตริ แผลงเป็น ดำริ
อ่านว่า ดำ-หริ ปราบ แผลงเป็น บำราบ อ่านว่า บำ-หราบ จรัส แผลงเป็น จำรัส อ่านว่า จำ-หรัด ยกเว้น ปราศ แผลงเป็น บำราศ อ่านว่า บำ-ราด
การอ่านคำพ้อง
คำพ้องที่มีปัญหาในการออกเสียงคือคำพ้องรูป ดังนั้นในการออกเสียงคำพ้องรูป ต้องสังเกตความหมายของข้อความที่สื่อสารประกอบ เพื่อจะได้อ่านออกเสียงคำพ้องรูปได้ อย่างถูกต้อง เช่น เพลา ถ้าต้องการสื่อความหมายให้หมายถึงเบาลง หรือน้อยลงต้องออก เสียงเพลา แต่ถ้าต้องการสื่อความหมายให้หมายถึงเวลาต้องออกเสียง เพ-ลา
การเขียนสะกดคำให้ถูกต้อง
การสื่อสารด้วยการเขียนจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้สื่อสาร จะต้องรู้หลักภาษาเพื่อให้ เข้าใจเรื่องการใช้พยัญชนะ การใช้สระ ตัวสะกด การันต์ การผันวรรณยุกต์ เพื่อให้มีกฎเกณฑ์ในการเขียนสะกดคำให้ถูกต้อง และจะต้องตรวจสอบคำที่ไม่แน่ใจว่าเขียนได้ถูกต้องหรือไม่ จากพจนานุกรมทุกครั้ง เพราะคำในภาษาไทยถ้าเขียนผิดความหมาย ทำให้ผู้รับสาร
เข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป นอกจากนี้ยังมีผลทำให้ผู้รับสารไม่เชื่อถือในผู้ส่งสารด้วย
ข้อผิดพลาดในการเขียนคำในภาษาไทย อาจเกิดได้จากสาเหตุดังนี้
1. ข้อผิดพลาดเกี่ยวกับพยัญชนะต้น
พยัญชนะในภาษาไทยจะมีเสียงซ้ำกัน เช่น ส-ศ-ษ / พ-ภ / น-ณ / ธ-ท-ฒ และมีเสียงใกล้เคียงกัน เช่น ร-ล การเขียนตามเสียงโดยไม่รู้จักคำหรือความหมายของคำนั้น จะทำให้เขียนคำผิดพลาดได้ เช่น ภูมิใจ อาจเขียนผิดเป็น พูมิใจ ปราณีอาจเขียนผิดเป็น ปรานี ร่อแร่อาจเขียนผิดเป็นล่อแล่ กำไร อาจเขียนผิดเป็นกำไล ช้อนส้อม อาจเขียนผิด
เป็นช้อนซ่อม ทรุดโทรมอาจเขียนผิดเป็น ซุดโทรม
2. ข้อผิดพลาดเกี่ยวกับพยัญชนะสะกด
ตัวสะกดในภาษาไทยมี 9 มาตรา คือ แม่กก แม่กด แม่กบ แม่กง แม่กม แม่เกย และแม่เกอว บางมาตรา พยัญชนะที่เป็นตัวสะกดในมาตราเดียวกันได้หลายตัว เช่น แม่กก พยัญชนะที่เป็นตัวสะกด ได้แก่ ก/ข/ค/ฆ แม่กน พยัญชนะที่เป็นตัวสะกดได้ คือ ญ/ณ/น/ร/ล/ฬ การเขียนต้องมีหลักในการจำและสังเกต โดยดูจากความหมายของคำ เป็นหลัก เช่น วันศุกร์ที่ผ่านมาฉันมีความสุขมากที่สุด ฉันได้ไปพักผ่อนที่บ้านสวนและเก็บ
มะม่วงสุกไปฝากเพื่อนๆ ที่ทำงาน กาลเวลาที่ผ่านไปหน้าที่การงานของเขาก็เจริญก้าวหน้า ขึ้นเรื่อยๆ แต่แล้วก็มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์ปีนี้ เขาป่วยเป็นโรคกาฬ และเสียชีวิตที่จังหวัดกาญจนบุรี
3. ข้อผิดพลาดเกี่ยวกับการใช้สระ
การใช้สระในคำดั้งเดิมในภาษาไทยจะออกเสียงตรงกับสระที่ประสม ยกเว้นสระ บางเสียงที่เขียนได้หลายแบบ อาจจะทำให้เกิดความสับสนในการสะกดคำได้ เช่น การประวิสรรชนีย์ หรือไม่ประวิสรรชนีย์ในคำว่า ตะโกน กระโถน กระทะ กนก ตลก ตลอด การเขียนคำที่ออกเสียง อำ/อัม เช่น จำรัส ดำรง อัมพร คัมภีร์ ปั๊ม การเขียนคำที่ประสม สระใอ/ไอ/อัย/ไอย เช่น หลงใหล น้ำใหล ฝักใฝ่ ลำไย ชัย อะไหล่ เจียระไน ซึ่งผู้ใช้ ต้องศึกษาและสังเกตหลักการเขียนเพื่อจะได้เขียนอย่างถูกต้อง
4. ข้อผิดพลาดเกี่ยวกับการใช้เครื่องหมายการันต์หรือทัณฑฆาต
เครื่องหมายการันต์หรือทัณฑฆาต เป็นการใส่เครื่องหมายกำกับเสียงเพื่อไม่ให้ ออกเสียงพยัญชนะ หรือสระที่มีเครื่องหมายการันต์กำกับอยู่ความผิดพลาดอาจเกิดจากการใช้หรือไม่ใช้เครื่องหมายการันต์ รวมถึงการใช้พยัญชนะที่เป็นตัวการันต์ผิด เช่น เลือกสรร อาจเขียนผิดเป็น เลือกสรรค์ สร้างสรรค์ อาจเขียนผิดเป็น สร้างสรร มัคคุเทศก์ อาจเขียน ผิดเป็น มัคคุเทศ กษัตริย์ อาจเขียนผิดเป็น กษัตรย์ โลกาภิวัตน์ อาจเขียนผิดเป็น โลกาภิวัฒน์
5. ข้อผิดพลาดเกี่ยวกับการใช้วรรณยุกต์
การใช้วรรณยุกต์กำกับเสียงผิด มักพบในคำยืมจากภาษาอื่นและคำเลียนเสียง ทั้งนี้เนื่องจากพยัญชนะบางตัวเมื่อผันวรรณยุกต์แล้ว เสียงจะไม่ตรงกับรูปวรรณยุกต์ เมื่อเทียบตามเสียงที่ปรากฏจึงทำให้เขียนรูปวรรณยุกต์ผิดเป็น เช่น เสื้อเชิ้ต เขียนผิดเป็น เสื้อเชิ๊ต เพราะเสียงวรรณยุกต์เป็นเสียงตรี สมุดโน้ตเขียนผิดเป็น สมุดโน้ต เพราะเสียงวรรณยุกต์เป็นเสียงตรี นะคะ เขียนผิดเป็น นะค่ะ เพราะเทียบเสียงผิด เจี๊ยวจ๊าว เขียนผิดเป็น เจี้ยวจ้าว เพราะเทียบเสียงผิด
หลักการเขียนสะกดคำให้ถูกต้อง
ในการเขียนคำที่ใช้ในภาษาไทยทั้งที่เป็นคำไทยแท้และคำที่ยืมมาจากภาษาอื่น มีข้อสังเกตและจดจำเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการเขียนดังนี้
1. หลักการประวิสรรชนีย์ในภาษาไทย
- คำที่ขึ้นต้นด้วยกระ/กะ ในภาษาไทยให้ประวิสรรชนีย์ เช่น กระเช้า กระเซ้า กระแส กระโปรง กระทรวง กระทะ กระพริบ กะปิ เป็นต้น
2. คำที่เป็นคำประสมที่คำหน้าก่อนเป็นเสียงอะ ให้ประวิสรรชนีย์
- เช่น ตาวัน เป็น ตะวัน ฉันนั้น เป็น ฉะนั้น ฉันนี้ เป็นฉะนี้
- หมากม่วง เป็น มะม่วง สาวใภ้ เป็น สะใภ้ วับวับ เป็น วะวับ
- เรื่อยเรื่อย เป็น ระเรื่อย เป็นต้น
3. คำที่ยืมมาจากภาษาบาลี สันสกฤต ตัวท้ายที่ออกเสียง อะ ต้องประวิสรรชนีย์
เช่น ศิลปะ มรณะ สาธารณะ วาระ เป็นต้น
4. คำที่ยืมมาจากภาษาชวา ถ้าออกเสียง อะ ต้องประวิสรรชนีย์
เช่น กะหมังกุหนิง ระเด่น ระตู มะงุมมะงาหรา เป็นต้น
5. คำที่พยัญชนะต้น ออกเสียง อะ แต่ไม่ใช่อักษรนำต้องประวิสรรชนีย์
เช่น ขะมุกขะมอม ขะมักเขม้น ทะเล่อทะล่า เป็นต้น
การใช้คำและสำนวนในการสื่อสารให้ถูกต้อง
คำแต่ละคำในภาษาไทยจะมีความหมายเฉพาะตัวที่แตกต่างกันไป ซึ่งอาจเป็นได้ ทั้งความหมายตามตัว ความหมายแฝง ความหมายนัยตรง และความหมายนัยประหวัด นอกจากนี้ ยังมีความหมายเทียบเคียงกับคำอื่นในลักษณะของคำที่มีความหมายแคบกว้าง ต่างกัน ความหมายคล้ายกัน ความหมายตรงข้ามกัน และคำหลายความหมายหลายหน้าที่ ดังตัวอย่างต่อไปนี้ ความหมายนัยตรงความหมายนัยประหวัด
ขาว หมายถึง สีขาว ขาว หมายถึง บริสุทธิ์
เสือ หมายถึง สัตว์ชนิดหนึ่ง เสือ หมายถึง โจร
กา หมายถึง นกชนิดหนึ่ง กา หมายถึง ผู้ต่ำศักดิ์
วันทอง หมายถึง ตัวละครในเรื่องขุนช้างขุนแผน
วันทอง หมายถึง หญิงสองใจ
1. ความหมายเทียบเคียงกับคำอื่นความหมายกว้างความหมายแคบ
- สัตว์ สุนัข แมว ควาย ช้าง ม้า มด ปลา กบ จระเข้ ฯลฯ
- เครื่องเขียน สมุด ดินสอ ปากกา ไม้บรรทัด ยางลบ วงเวียน ฯลฯ
- ต้นไม้ ต้นมะม่วง ต้นมะพร้าว ต้นไทร ต้นกล้วยไม้ ต้นสักทอง ฯลฯ
- ดอกไม้ ดอกกุหลาบ ดอกเข็ม ดอกจำปา ดอกมะลิ ดอกรัก ฯลฯ
2. ความหมายเทียบเคียงกับคำอื่น
ความหมายร่วมกันหรือใกล้เคียงกัน
ขำ ขัน
ตรวจตรา ตรวจสอบ
อนุญาต อนุมัติ
เผยแพร่ เผยแผ่
ฝ่าฝืน ขัดขืน
กีดกัน ขัดขวาง
กำหนดการ หมายกำหนดการ
ความหมายตรงข้ามกัน
มัธยัสถ์ – ฟุ่มเฟือย
นิ่มนวล – แข็งกระด้าง
รีบร้อน – ชักช้า
สุจริต – ทุจริต
ขุ่น – ใส / มัว
ดี – เลว / ชั่ว / เสีย
บาป – บุญ
คาย – กลืน
ประโยชน์ – โทษ
สว่าง – มืด
ความหมายเหมือนกัน
กิน – ทาน รับประทาน ฉัน บริโภค เสวย หม่ำ
อ้ำ เจี๊ยะ ฟาด ฯลฯ
ดอกไม้ – บุปผา มาลี
หญิงสาว – นุช นงนุช นงเยาว์ นงพาล เยาวมาลย์
อิตถี นารี อิสตรี เยาวเรศ อนงค์ อรอนงค์
นาฏ
ป่า – เถื่อน พง พงไพร ไพร ไพรสณฑ์ ไพรสัณฑ์
ไพรวัลย์ พนา พนาวัลย์ พนาเวศ วนา
วนารี ฯลฯ
จากความหลากหลายของความหมายของคำที่ใช้ในการสื่อสาร ผู้สื่อสารจะต้อง ทำความเข้าใจความหมายของคำและถ้อยคำสำนวนต่าง ๆ รวมถึงสุภาษิต คำพังเพย เพื่อจะ ได้นำไปใช้ให้ถูกต้องตามความหมายที่แท้จริงและเหมาะกับบริบทของประโยคที่ต้องการสื่อสาร
การใช้ประโยคในการสื่อสารให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์
คณาจารย์ภาควิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัย หอการค้า (๒๕๔๑:๓๑) ได้สรุปข้อบกพร่องในการใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร ซึ่งมีผลทำให้ การสื่อสารขาดประสิทธิภาพไว้ ๔ ประการดังนี้คือ การใช้ภาษาผิด การใช้ภาษาไม่เหมาะสม การใช้ภาษาไม่ชัดเจน และการใช้ภาษาไม่สละสลวย
1. การใช้ภาษาผิด หมายถึง การใช้ภาษาผิดความหมาย ผิดหลักไวยากรณ์ ใช้กลุ่มคำและสำนวนผิดเรียงคำหรือกลุ่มคำผิดลำดับ และประโยคไม่สมบูรณ์ ดังนี้
1.1 การใช้คำผิดความหมาย คือการใช้คำที่มีความหมายอย่างหนึ่งไปใช้ในความหมายอีกอย่างหนึ่งซึ่งต่าง จากความหมายเดิมที่ยอมรับกันอยู่ เช่น
- คลองในกรุงเทพฯ ที่เดิมใช้เป็นเส้นทางคมนาคมถูกทับถมไป
จนเกือบหมด (ผิด)
- คลองในกรุงเทพฯ ที่เดิมใช้เป็นเส้นทางคมนาคมถูกถมไป
จนเกือบหมด (ถูก)
- นักศึกษาใหม่จะต้องเข้ารับการปฐมนิเทศตามหมายกำหนดการ
ที่แจ้ง (ผิด)
- นักศึกษาใหม่จะต้องเข้ารับการปฐมนิเทศตามกำหนดการที่แจ้ง
(ถูก)
(ควรใช้คำว่า กำหนดการแทน เพราะหมายกำหนดการ หมายถึง กำหนดการเสด็จ พระราชดำเนิน ใช้สำหรับพระราชมหากษัตริย์)
- ศีลธรรมของคนทุกวันนี้ทรุดโทรมลงอย่างเห็นได้ชัด
- ศีลธรรมของคนทุกวันนี้เสื่อมโทรมลงอย่างเห็นได้ชัด
(ควรใช้คำว่า เสื่อมโทรมลงเพราะว่า ทรุดโทรมจะใช้กับ.................)
- บริเวณที่เกิดเพลิงไหม้มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น
(ควรใช้คำว่า หนาแน่น ซึ่งหมายถึง คับคั่ง/แออัด)
1.2 การใช้คำผิดหลักไวยากรณ์ คือการใช้คำผิดหน้าที่ เช่น การใช้คำบุพบท คำสันธาน หรือคำลักษณะนาม
- แหวนของเขาทำจากทอง
(คำบุพบทที่ควรใช้ในประโยคนี้คือ ด้วย)
- เขาบริจาคเงินหนึ่งแสนบาทให้กับมูลนิธิคนพิการ
(คำบุพบทที่ควรใช้คือ แก่)
- ประชาชนผู้ยากไร้เข้าร้องทุกข์กับนายกรัฐมนตรีเรื่องที่ดินทำกิน
(บุพบทที่ควรใช้คือ ต่อ)
- ปัจจุบันมีการจัดการศึกษาในรูปแบบของการเรียนรู้ตลอดชีวิต
เพราะทุกคนจึงสามารถที่จะเรียนรู้ได้ตลอดเวลา
(ควรใช้คำสันธานจึงเพียงคำเดียวในประโยค)
- ในการสื่อสารนักศึกษาควรใช้ภาษาที่ถูกไวยากรณ์ แต่สื่อ
ความหมายได้ชัดเจน (ควรใช้คำสันธาน และ)
- การดำเนินชีวิตเป็นเรื่องซับซ้อนและยุ่งยากและชีวิตก็ยังเป็นสิ่ง
ที่ต้องดำเนินต่อไป (ควรใช้คำสันธาน แต่ แทนคำว่า และ)
- พระภิกษุองค์นี้ท่าทางน่าเลื่อมใสเพราะมีวัตรปฎิบัติที่งดงาม
(ควรใช้ลักษณะนามว่า รูป)
- การก่อการร้ายใน ๓ จังหวัดภาคใต้ทำให้รถไฟฟ้า ๒ คันตกราง
และได้รับความเสียหาย (ควรใช้ลักษณะนามว่า ขบวน)
1.3 การใช้กลุ่มคำและสำนวนผิด คือการใช้กลุ่มคำและสำนวนที่ผิดไปจากหลักไวยากรณ์ เช่น
- น่าเสียดายที่คนรุ่นหลังจะได้เห็นแต่ซากปรักหังพังของ
โบราณสถานแห่งนี้
(กลุ่มคำที่ถูกต้องในประโยคนี้คือ ซากปรักหักพัง)
- ศรรามและมาริสาเป็นคู่รักที่เหมาะสมกันราวกิ่งทองใบตำแย
(สำนวนที่ถูกต้องคือกิ่งทองใบหยก)
- การทำงานที่ลงทุนแล้วได้ผลไม่คุ้มค่าเหมือนการ จับปูใส่กระด้ง
ย่อมเป็นการสูญเปล่า
(สำนวนที่ถูกต้องคือ ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ)
1.4 การเรียงคำหรือกลุ่มคำผิดลำดับ เช่น
- การสร้างสรรค์สังคมนั้นต้องคนในสังคมร่วมมือกัน
ควรจัดลำดับใหม่เป็น . . .
การสร้างสรรค์สังคมนั้นคนในสังคมต้องร่วมมือกัน
- หญิงสาวคนนั้นเป็นพยาบาลที่ไว้ผมยาว
ควรจัดลำดับใหม่เป็น . . .
หญิงสาวที่ไว้ผมยาวคนนั้นเป็นพยาบาล
- การเดินทางยังให้ความรู้แก่ผู้เดินทางทางอ้อมด้วย
ควรจัดลำดับใหม่เป็น . . .
การเดินทางยังให้ความรู้ทางอ้อมแก่ผู้เดินทางด้วย
1.5 การใช้ประโยคที่ไม่สมบูรณ์ คือการใช้ประโยคที่ขาดส่วนสำคัญของประโยค หรือขาดคำบางคำในประโยคทำให้ความในประโยคไม่สมบูรณ์ เช่น
- ผู้มีปัญญาผ่านพ้นอุปสรรคได้โดยง่าย
(ข้อความนี้ไม่สมบูรณ์เพราะขาดคำบุพบท ประโยคที่สมบูรณ์ คือ
ผู้มีปัญญาย่อมผ่านพ้นอุปสรรคได้โดยง่าย)
- นายพรานไปนั่งห้างยิงสัตว์ที่เขายิงได้ตัวใหญ่มาก
(ข้อความนี้ไม่สมบูรณ์เพราะประโยคหลังขาดประธาน
ประโยคที่สมบูรณ์ คือ
นายพรานไปนั่งห้างยิงสัตว์ สัตว์ที่เขายิงได้ตัวใหญ่มาก
- ดอกไม้ที่สวยงามและบานในฤดูหนาว
(ข้อความนี้ไม่สมบูรณ์เพราะขาดประธานและกริยาของประโยค
ประโยคที่สมบูรณ์ คือ
กุหลาบเป็นดอกไม้ที่สวยงามและบานในฤดูหนาว
2. การใช้ภาษาไม่เหมาะสม
1.1 การใช้ภาษาไม่เหมาะสม หมายถึง การใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมกับกาลเทศะและบุคคล การใช้ภาษาผิดระดับซึ่งอาจเกิดจากการใช้ภาษาพูดในภาษาเขียน ใช้คำไม่เหมาะกับความรู้สึกหรือมีความหมายขัดแย้ง และใช้คำหรือสำนวนภาษาต่างประเทศปะปนในภาษาไทย การใช้ภาษาพูดในภาษาเขียน เช่น
- เขาได้รับคัดเลือกเป็นพนักงานดีเด่นโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว
ควรแก้ไขประโยคเป็น . . .
เขาได้รับคัดเลือกเป็นพนักงานดีเด่นโดยไม่ทราบล่วงหน้า
- จังหวัดโคราชเป็นเมืองที่เจริญมากที่สุดในภาคอีสาน
ควรแก้ไขเป็น . . .
จังหวัดโคราชเป็นจังหวัดที่มีความเจริญมากที่สุดใน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
2.2 การใช้คำที่ไม่เหมาะกับความรู้สึก เช่น
- เขาดีใจที่ต้องออกไปรับรางวัล
ควรแก้ไขประโยคเป็น . . .
เขาดีใจที่ได้ออกไปรับรางวัล
- เขารู้สึกปลาบปลื้มจนน้ำตาตกในที่ลูกกลับมาหาเขาอีกครั้ง
ควรแก้ไขประโยคเป็น . . .
เขารู้สึกปลาบปลื้มจนน้ำตาไหลที่ลูกกลับมาหาเขาอีกครั้ง
2.3 การใช้คำต่างระดับ คือการนำคำที่อยู่ในระดับภาษาต่างกันมาใช้ในประโยคเดียวกัน เช่น
- เจ้าอาวาสวัดพระนอนได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา
ควรแก้ไขประโยคเป็น . . .
เจ้าอาวาสวัดพระนอนได้มรณภาพด้วยโรคชรา
- สามีย่อมรักและไว้วางใจคนที่ได้ชื่อว่าเป็นเมีย
ควรแก้ไขประโยคเป็น . . .
สามีย่อมรักและไว้วางใจคนที่ได้ชื่อว่าเป็นภรรยา
2.4 การใช้คำภาษาต่างประเทศปะปนในภาษาไทย เช่น
- มีบริการส่งแฟ็กซ์แก่ลูกค้าฟรี
ควรแก้ไขประโยคเป็น . . .
มีบริการส่งโทรสารแก่ลูกค้าโดยไม่คิดเงิน
- เกรดซัมเมอร์นี้ของมานะไม่น่าพอใจ
ควรแก้ไขประโยคเป็น . . .
ผลการเรียนภาคฤดูร้อนของมานะไม่น่าพอใจ
3. การใช้ภาษาไม่ชัดเจน
การใช้ภาษาไม่ชัดเจน หมายถึง การใช้ภาษาที่ไม่สามารถสื่อความหมายที่ผู้ใช้ ต้องการได้ การใช้ภาษาไม่ชัดเจนอาจเกิดที่ใช้คำที่มีความหมายกว้างเกินไป การใช้คำที่มี ความหมายไม่เฉพาะเจาะจง การใช้คำที่มีความหมายขัดแย้งกัน หรือการใช้ประโยคที่มี ความหมายกำกวมทำให้เข้าใจได้หลายความหมาย
3.1 การใช้คำที่มีความหมายกว้างเกินไป เช่น
- เขาถูกทำทัณฑ์บนเพราะทำความผิด
ควรแก้ไขประโยคเป็น . . .
เขาถูกทำทัณฑ์บนเพราะก่อการวิวาท
- เขาเป็นคนดีจึงมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
ควรแก้ไขประโยคเป็น . . .
เขาเป็นคนขยันและมีความรับผิดชอบจึงมีความก้าวหน้าใน
หน้าที่การงาน
3.2 ใช้คำที่มีความหมายขัดแย้งกัน เช่น
- รถค่อย ๆ เคลื่อนที่ออกไปอย่างรวดเร็ว
ควรแก้ไขประโยคเป็น . . .
รถค่อย ๆ เคลื่อนออกไป
- ตำรวจรัวกระสุนใส่ผู้ร้ายหนึ่งนัด
ควรแก้ไขเป็น . . .
ตำรวจรัวกระสุนใส่ผู้ร้ายหลายนัด
3.3 ใช้ประโยคที่มีความหมายกำกวมสื่อสารได้หลายความหมาย เช่น
- นิดขายรถเล็กไปแล้ว อาจมีความหมายหมายถึง
นิดขายรถของเล็กไปแล้ว หรือ นิดขายรถคันเล็กไปแล้วก็ได้
- สมพลแต่งงานกับน้องของมาลินีที่เป็นนักร้อง
อาจมีความหมายหมายถึง มาลินีเป็นนักร้อง
หรือน้องของมาลินีเป็นนักร้องก็ได้
4. การใช้ภาษาไม่สละสลวย
เป็นการใช้ภาษาที่สามารถสื่อสารกันได้ แต่การใช้ภาษาจะไม่ราบรื่น
4.1 อาจเกิดจากการใช้คำฟุ่มเฟือย การใช้คำไม่คงที่ การลำดับความไม่เหมาะสม หรือใช้สำนวนภาษาต่างประเทศในการสื่อสารภาษาไทยใช้คำฟุ่มเฟือย เช่น
- แพทย์ทำการรักษาผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุอย่างเต็มความสามารถ
ควรแก้ไขประโยคเป็น . . .
แพทย์รักษาผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุอย่างเต็มความสามารถ
- ชายฝั่งทะเลวันนี้คลาคล่ำเต็มไปด้วยผู้คน
ควรแก้ไขประโยคเป็น . . .
ชายฝั่งทะเลวันนี้เต็มไปด้วยผู้คน หรือ
ชายฝั่งทะเลวันนี้คลาคล่ำไปด้วยผู้คน
4.2 ใช้คำไม่คงที่ เช่น
- เมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็กพ่อของฉันจะพาดิฉันไปเที่ยวสวนสัตว์ดุสิต
ทุกวันอาทิตย์
ควรแก้ไขประโยคเป็น . . .
เมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็กพ่อจะพาข้าพเจ้าไปเที่ยวสวนดุสิต
ทุกวันอาทิตย์
- ภาษาเพื่อการสื่อสารมี ๒ ประเภท คือภาษากับการสื่อสาร
โดยทั่วไปและภาษาเพื่อการสื่อสารในงานอาชีพ
ควรแก้ไขประโยคเป็น . . .
ภาษาเพื่อการสื่อสารมี ๒ ประเภทคือภาษาเพื่อการสื่อสาร
โดยทั่วไปและภาษาเพื่อการสื่อสารในงานอาชีพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น